top of page

Ontology-Epistemology-Axiology

Updated: Feb 19, 2023

ได้มีโอกาสไปอ่านบทความแล้วมีคำว่า Ontology เลยนึกถึงสมัยเรียน จึงไปค้นไฟล์เก่าๆ ที่เคยเรียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ เจออยู่ 3 คำที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอยู่ในหัวข้อที่เรียนเกี่ยวกับ การแสวงหาความรู้ ความจริง คำ 3 คำที่ว่านี้ได้แก่ Ontology Epistemology และ Axiology ตอนนั้นที่เรียนก็เข้าใจแน่ว่ามันเกี่ยวกับวิชาปรัชญาแน่นอน


 

Ontology - Epistemology - Axiology

 

ก่อนจะไปสู่ความหมายของทั้ง 3 คำนี้ ขอเริ่มด้วยคำอีก 2 คำ คือ Induction และ Deduction


เชื่อว่าทุกคนที่ได้เรียนวิชาวิจัยน่าจะเคยพบเคยเจอคำนี้อยู่ เป็นวิธีการค้นหาความรู้ ความจริงอยู่ 2 แบบ


Induction - Deduction


"Induction" เป็นการหาความจริงจากปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ แล้วทำการค้นคว้าเพื่อสร้างเป็นความรู้ใหม่ เช่น พฤติกรรมการซื้อสินค้าที่เปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนลูกค้าจะมีพฤติกรรม มีการตัดสินใจในการซื้อสินค้าด้วยแนวทางเดิม แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป เมื่อเราทดสอบพฤติกรรมนั้นด้วยทฤษฎีเดิม มันจึงใช้ไม่ได้ คำตอบไม่เหมือนเดิม เราจึงต้องสืบค้นว่าแล้วพฤติกรรมที่เป็นอยู่ปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร (มีคำนึงที่ถูกพูดถึงหากทฤษฎีที่ใช้อยู่มันไม่สามารถตอบคำถามได้อีกแล้ว คือคำว่า paradigm shift หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่สามารถตอบได้ด้วยทฤษฎีหรือองค์ความรู้แบบเดิมอีกต่อไป) วิธีการ induction นี้ มักนำไปใช้กับกลุ่มการวิจัยเชิงคุณภาพ


"Deduction" เป็นการหาความจริงจากสิ่งที่มีอยู่ แล้วทดสอบเพื่อให้ได้คำตอบว่า "ใช่" มันเป็นจริงอย่างนั้น เช่น เรามีองค์ความรู้ว่าการจะขายสินค้าได้ต้องพิจารณาที่ 4P เราจึงนำทฤษฎี 4P มาตั้งแล้วสร้างเครื่องมือไปตรวจสอบว่าผู้บริโภคมีการตัดสินใจซื้อสินค้าตามทฤษฎี 4P หรือไม่ หากใช่ก็ตอบคำถามได้ว่า ถ้าเราต้องการให้ลูกค้าซื้อสินค้าของเราเราต้องพิจารณาเรื่อง 4P ให้ตรงใจลูกค้า ซึ่งเป็นแนวทางของการวิจัยเชิงปริมาณที่จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือไปทดสอบความจริงนั้น โดยการสร้างจากทฤษฎี แต่ถ้าหากทฤษฎี 4P นี้ไม่สามารถตอบคำถามได้แล้ว นั่นแสดงว่าองค์ความรู้เดิมกำลังถูกต่อต้าน (thesis) วิธีการหาความรู้นี้ก็จะวนกลับไปสู่วิธีการ Induction เป็น cycle เช่นนี้ต่อไป ดังรูปด้านล่าง



 

Ontology - Epistemology - Axiology


ว่ากันต่อด้วยคำ 3 คำซึ่งเกี่ยวกับการตั้งคำถามเชิงปรัชญาในการแสวงหาความรู้ความจริง


"Ontology ภววิทยา" เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการมีอยู่ การดำรงอยู่ เป็นการตั้งคำถามว่า สิ่งนั้นมีอยู่หรือไม่ มีอยู่ได้อย่างไร เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง เช่น ความดีคืออะไร อะไรคือความดี ความดีมีลักษณะเป็นอย่างไร อะไรเกี่ยวข้องกับความดีบ้าง ซึ่งคำตอบเหล่านี้อาจไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว อย่างที่มักพูดกันว่าความดีในความหมายของใคร ใครนิยาม ดังนั้น ในเรื่องแต่ละเรื่องนั้นก็อาจมีการให้คำนิยามที่ไม่เหมือนกัน การกระทำ การปฏิบัติต่อสิ่งนั้นจึงไม่เหมือนกันได้ เพราะคนเราให้ความหมายต่อสิ่งนั้นไม่เหมือนกัน


"Epistemology ญาณวิทยา" เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการค้นหาความรู้ด้วยวิธีการต่างๆ เป็นปรัชญาที่พูดถึงการเข้าถึงความจริงด้วยวิธีการต่างๆ ตัว Epistemology จะมีความเกี่ยวสัมพันธ์กับ Ontology เนื่องจากเรามองสิ่งที่เป็นอยู่จริงนั้นอย่างไร ก็จะส่งผลให้เราหาวิธีการหาคำตอบต่างกันไป เช่น เรามองความดีว่าเป็นเรื่องของการทำตามประเพณีนิยมหรือทำตามที่คนในสังคมนั้นๆ บอกว่าดี ดังนั้นเมื่อเห็นว่าใครที่ทำตามแบบแผนทางสังคมนั้นๆ เราก็จะตอบได้ว่าเขาเป็นคนดี (เพราะเขาทำตามแบบแผน ประเพณีของสังคม) มีคำที่เกี่ยวข้องอีกสองคำคือ ปฏิฐานนิยม (Positivism) และปรากฏการณ์นิยม (Phenomenology) จะกล่าวในลำดับต่อไป

"Axiology คุณวิทยา" เป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า ค่านิยมในเรื่องต่างๆ หรืออาจจะบอกว่าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความจริง กับการศึกษาเรื่องคุณค่า ว่าเรามีการให้คุณค่าหรือค่านิยมในเรื่องนั้นๆ ว่าอย่างไร เช่น คนที่เป็นคนดี มีความดีนั้นต้องเป็นคนอย่างไร ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง มีเกณฑ์อะไรบ้างที่บอกว่านี่คือคนดี ความดี จึงต้องทำการพิสูจน์ว่าคุณค่า ค่านิยมนั้นเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งจะพิสูจน์ได้ก็จะต้องอ้างกลับไปยังเรื่อง ontology และ epistemology ด้วย


 

Positivism - Phenomenology


กลับมาต่อกันกับ Positivism และ Phenomenology ที่เป็นอีกคำที่สำคัญในการวิจัย ซึ่งเป็นคำที่บ่งบอกถึงกระบวนทัศน์ต่องานวิจัยนั้นๆ ที่จะส่งผลไปสู่วิธีการหาคำตอบ


"Positivism ปฏิฐานนิยม" เป็นกระบวนทัศน์ในการเข้าถึงความรู้แนววิทยาศาสตร์ คือ เชื่อว่าความรู้นั้น หรือสิ่งนั้นมีอยู่แล้ว อาจพูดได้ว่ามี Ontology ในเรื่องนั้นๆ ว่าสิ่งนั้นมีอยู่แล้ว เรามีหน้าที่สร้างเครื่องมือหรือหาวิธีการไปพิสูจน์ว่าสิ่งนั้นมันมีจริงใช่หรือไม่ กระบวนทัศน์นี้จึงมักถูกเรียกปนไปกับการวิจัยเชิงปริมาณ เนื่องจากการวิจัยเชิงปริมาณนั้นมีความเชื่ออยู่ว่าสิ่งที่เรากำลังทำการศึกษานั้น มันมีจริงอยู่แล้วเรามีหน้าที่ไปพิสูจน์ว่ามันมีจริงๆ เราจึงต้องสร้างเครื่องมือเพื่อเข้าไปตรวจผลลัพธ์นั้น ในทางการทดลองก็คือสร้างเครื่องมือหรือบันทึกข้อมูลว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ส่วนในทางสังคมหรือธุรกิจมีการสร้างเครื่องมือคือแบบสอบถาม เพื่อเข้าไปตรวจสอบว่าสิ่งนั้นมีจริงหรือไม่ เช่น การมีส่วนร่วมในชุมชนเป็นนามธรรมแต่เราเชื่อว่ามันมีอยู่ในชุมชน เราจึงต้องสร้างเครื่องมือเข้าไปพิสูจน์มีส่วนร่วมในชุมชนจริงๆ


"Phenomenology ปรากฏการณ์นิยม" เป็นกระบวนทัศน์ในการเข้าถึงความรู้แนวสังคม คือ เชื่อว่าความรู้ความจริงนั้นอยู่ในตัวคน เรามีหน้าที่เข้าไปค้นหาเพื่อสร้างเป็นความรู้ขึ้นมา กระบวนทัศน์นี้จึงถูกเรียกปะปนไปกับการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ ตัวผู้วิจัยเองต้องเข้าไปในพื้นที่ ไปอยู่กับชุมชน ไปอยู่กับสิ่งที่สนใจ แนวทางเหล่านี้มักใช้ในสาขาสังคมศาสตร์หรือมนุษยวิทยา เช่น การศึกษาทางมนุษยวิทยาที่มีการแทรกตัวเองไปเป็นคนขอทานแล้วทำการสังเกต มีส่วนร่วมกับกลุ่มที่สนใจจนทำให้รู้ว่าคนขอทานมีพฤติกรรมอย่างไร ทำไมถึงมาเป็นขอทาน แล้วจึงสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา


 

เรื่องปรัชญาเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าใจ แต่คิดว่าไม่ยากจนเกินไป แต่คุณเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราทำนั้น เราทำเพื่ออะไร ทำไมถึงต้องทำ แล้วที่ทำอยู่นั้นมันถูกต้องหรือไม่


แต่ถ้ามีคำถามว่าจะทำสถิติอย่างไร อันนี้เรามีคำตอบครับ มาปรึกษากับเราได้เลยครับ






💝ร่วมติดตามได้ทุกช่องทาง

💝follow or subscribe in any channel

.

📳tel.086-555-5949

🆔️line: @SmartResearchThai

Blockdit: SmartResearchThai

Youtube: SmartResearchThai

Facebook: SmartResearchThai

#ปรึกษาสถิติ #สอนใช้โปรแกรมสถิติ #แก้ปัญหาสถิติ #คอร์สสถิติ #เรียนสถิติ

#Research Knowledge

3,368 views0 comments

Comments


bottom of page