top of page

แนวทางการสร้างแบบสอบถาม

Updated: Jan 1


Questionnaire Design and Practice
Questionnaire Design and Practice

"แบบสอบถาม"ถือเป็นเครื่องมือในการวิจัยที่สำคัญ โดยเฉพาะการวิจัยเชิงปริมาณ บล็อคนี้จะแลกเปลี่ยน พูดคุย เกี่ยวกับการสร้างแบบสอบถามกันครับ


outline:


 

ความสำคัญในการสร้างแบบสอบถาม


ตามที่ได้เกริ่นนำไว้แล้ว ว่าแบบสอบถามมีความสำคัญโดยเฉพาะการวิจัยเชิงปริมาณ ที่ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ แล้วอ้างอิงกลับไปยังประชากรในการวิจัย


เรามาทบทวนกันสักเล็กน้อยถึงที่มาที่ไปกันครับ งานวิจัยแบ่งอย่างกว้างเป็น การวิจัยเชิงคุณภาพ และ การวิจัยเชิงปริมาณ รวมถึงการวิจัยแบบผสานวิธี


การวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหา การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการได้มาซึ่งข้อมูลนั้น มักจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบสัมภาษณ์ การสังเกต การมีส่วนร่วม เป็นต้น


การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการเรื่องเกี่ยวตัวเลข อาศัยตัวเลขในการทำความเข้าใจ และสรุปผล โดยการได้มาซึ่งข้อมูลนั้น มักจะใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม แบบวัด แบบทดสอบ หรือจากฐานข้อมูลต่างๆ เป็นต้น


ส่วนการวิจัยแบบผสานวิธีนั้น เป็นการผสมของวิธีการข้างต้น (เราเรียกว่า วิธีวิทยา) เข้าด้วยกัน อาจเป็นลักษณะของการวิจัยเชิงคุณภาพก่อน แล้วตามด้วยเชิงปริมาณ หรือเชิงปริมาณก่อน แล้วตามด้วยเชิงคุณภาพ หรือทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป


ในบทความนี้ จึงอยากเน้นที่การวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า "แบบสอบถาม" ดังนั้น แบบสอบถามจึงมักเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้กันมากที่สุด แต่วิธีการสร้างแบบสอบถามนั้น จะว่าง่าย ก็ได้ หรือจะว่ายากก็ได้เช่นกัน มาดูกัน





.





ขั้นตอนการออกแบบ แบบสอบถาม


ขอนำเสนอขั้นตอนการสร้าง หรือ ออกแบบ แบบสอบถามดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 คำถามในแบบสอบถามนั้น จะมาจากการทบทวนแนวคิด ทฤษฎี และวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้อง เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค ข้อคำถามต่างๆ ก็ต้องมาจากการแปลงนิยาม "พฤติกรรมผู้บริโภค" เป็นนิยามเชิงปฏิบัติการ แล้วจึงกำหนดเป็นข้อคำถามขึ้นมา หรืออีกวิธีที่อาจจะง่ายหน่อย ก็คือ ไปตามหาว่ามีใครที่นำเสนอข้อคำถามเหล่านี้ไว้แล้วบ้าง แล้วทำการ Adapt มาจากผู้วิจัยนั้นๆ

  • ขั้นตอนที่ 2 สร้างข้อคำถามให้ครบถ้วนตามจำนวนตัวแปรที่มีทั้งหมดในงาน เช่น งานวิจัยที่ศึกษา ปัจจัยส่วนประสมการตลาด ที่มีต่อ พฤติกรรมผู้บริโภค ก็ต้องมีคำถามที่เกี่ยวกับ ปัจจัยส่วนประสมการตลาด และคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค อยากขยายความในประเด็นนี้นิดนึง คือ หลายครั้งพบเจอว่า กำหนดกรอบแนวคิดโดยมีตัวแปรต้น ตัวแปรตาม แต่ตัวแปรตามไม่มีในแบบสอบถาม ก็คือ มีคำถามแต่ในตัวแปรต้น แต่ไม่มีคำถามในตัวแปรตาม เพราะเข้าใจว่า ถ้าได้คำตอบจากตัวแปรต้น ก็จะได้คำตอบจากตัวแปรตามด้วย ซึ่ง "ไม่ได้" เนื่องจากทุกตัวแปรต้องมีข้อมูล ต้องมีตัวเลขเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ เช่น วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนประสมการตลาด ที่มีต่อ พฤติกรรมผู้บริโภค จึงต้องมีข้อมูลในทุกตัวแปร

  • ขั้นตอนที่ 3 เมื่อสร้างแบบสอบถามเรียบร้อยแล้ว ต้องนำแบบสอบถามไปตรวจสอบ ในเรื่องความตรง (validity) และความเชื่อมั่น (reliability) ในประเด็นนี้ ขอเล่าในแบบง่ายๆ ตามตำรา ความตรง (validity) ให้ตรวจสอบด้วย IOC หรือการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบข้อคำถาม ประเด็นของความตรง ก็คือ ข้อคำถามที่สร้างมานั้น "ตรง" กับเรื่องที่ทำหรือไม่ เช่น เราทำเรื่อง พฤติกรรมผู้บริโภค แต่กลับไปสร้างคำถาม หรือไปนำมาจากทฤษฎีอื่น แบบนี้ เรียกว่า "ไม่ตรง" ดังนั้น ทำวิจัยเรื่อง พฤติกรรมผู้บริโภค ก็ต้องสร้างคำถามที่เกี่ยวกับ พฤติกรรมผู้บริโภค IOC เป็นการให้คะแนนโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขา หรือด้านนั้นๆ จำนวน 3 5 หรือ 7 คน (ควรเป็นเลขคี่) ว่าข้อคำถาม "ตรง" กับเรื่องที่ทำหรรือไม่ หากตรงให้ 1 คะแนน หากไม่ตรงให้ -1 คะแนน แต่หากไม่มั่นใจให้ 0 คะแนน โดยเมื่อรวมคะแนนทั้งหมดแล้ว ต้องมีมากกว่า 0.5 ขึ้นไป จึงถือว่าข้อคำถาม ข้อนั้นๆ "ตรง" ความเชื่อมั่น (reliability) คือการตรวจสอบว่า ข้อคำถามนั้นมีความเชื่อมั่นมากแค่ไหน เมื่อเอาไปเก็บข้อมูลจริง โดยจะทำการทดลองเก็บ หรือที่เรียกว่า tryout จำนวน 30-50 ชุด จากกลุ่มตัวอย่างที่ใกล้เคียงกัน เช่น กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้อยู่อาศัยใน กทม. ทั้ง 50 เขต ก็อาจจะเก็บกับปริมณฑล จากนั้น จะตรวจสอบด้วยการวิเคราะห์ Cronbach Alpha (อ่านเรื่อง cronbach alpha เพิ่มเติมได้ที่ https://www.smartresearchthai.com/post/reliability-cronbach-alpha) ด้วยเกณฑ์ 0.7 หากมีค่ามากกว่า 0.7 จะถือว่าข้อคำถามมีความเชื่อมั่นเพียงพอ

  • ขั้นตอนที่ 4 ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง คำว่าลงพื้นที่ ในยุคนี้ คงไม่ใช่เพียงการลงไปยังพื้นที่ แล้วแจกแบบสอบถามกันแล้ว แต่ยังมีช่องทางออนไลน์ด้วย ซึ่งประเด็น online survey นั้น น่าจะได้มีโอกาสมาพูดคุยกันในโอกาสหน้าครับ





.





ตัวอย่างแบบสอบถาม


แบบสอบถามส่วนใหญ่ มักจะแบ่งคำถามเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1) ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป 2) ข้อมูลทัศนคติ หรือ ความคิดเห็น และ 3) ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม รวมถึง ข้อคำถามด้านพฤติกรรมอื่นๆ


ตัวอย่าง แบบสอบถาม
ตัวอย่าง แบบสอบถาม

ตัวอย่าง แบบสอบถาม
ตัวอย่าง แบบสอบถาม

ตัวอย่าง แบบสอบถาม
ตัวอย่าง แบบสอบถาม


หากเก็บข้อมูลแบบลงพื้นที่จริง ใช้เอกสารกระดาษในการเก็บข้อมูล

ข้อดี ก็คือ ได้สัมผัสกลุ่มตัวอย่าง หรือผู้ให้ข้อมูลจริงๆ อาจมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ แต่ถ้าเป็นการจ้างเก็บข้อมูล ก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้รับจ้างให้ดี ว่าต้องสังเกตอะไรบ้าง ควรให้ตอบครบทุกข้อหรือไม่ หรือหากผู้ตอบมีคำถาม มีข้อสงสัยก็ควรให้คำตอบได้


ข้อเสีย ก็คือ ใช้เวลาเยอะ มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าใช้จ่ายด้านเอกสาร ค่าใช้จ่ายการกำลังคนในการลงพื้นที่ และรวมถึงของที่ระลึกที่จะต้องมอบให้ เป็นการขอบคุณที่ให้ข้อมูล


แต่ถ้าเป็นการเก็บข้อมูลแบบออนไลน์ ซึ่งมีทั้งแบบฟรี เช่น Google Form และ เสียค่าใช้จ่าย เช่น Survey Monkey


ตัวอย่าง แบบสอบถาม ออนไลน์
ตัวอย่าง แบบสอบถาม ออนไลน์

ตัวอย่าง แบบสอบถาม ออนไลน์
ตัวอย่าง แบบสอบถาม ออนไลน์

ข้อดี ก็คือ สะดวก รวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายน้อย สามารถรู้ผล ความคืบหน้าได้ทันที รู้จำนวนผู้ตอบทันที


ข้อเสีย ก็คือ ไม่เห็นตัวผู้ตอบ อาจเป็นคนเดิม ตอบซ้ำได้ ไม่มีโอกาสพูดคุย ไขข้อสงสัยได้ บางครั้งหากเป็นการจ้างเก็บข้อมูลอาจได้ไม่ตรงกับกลุ่มผู้ตอบจริงๆ เช่น ขอบเขตคือ Gen Baby Boomer แต่ผู้ตอบไม่ใช่ gen นั้นจริงๆ แต่ถ้าเก็บข้อมูลแบบลงพื้นที่ ยังพอสามารถเห็นและรับรู้ได้ว่าผู้ตอบเป็นช่วงวัยนั้น จริงหรือไม่





.





การคีย์ข้อมูลแบบสอบถาม


การคีย์ข้อมูล ในที่นี้ จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1) แบบสอบถามกระดาษ กับ 2) แบบสอบถามออนไลน์


(1) แบบสอบถามกระดาษ แน่นอนว่าถ้าเก็บเป็นกระดาษก็ต้องมาบันทึกลงโปรแกรม ขอเล่าในมุมโปรแกรม Excel กับ SPSS


โปรแกรม Excel ส่วนตัวชอบให้บันทึกข้อมูลในลง excel แล้วค่อยแปลงเป็น SPSS อีกครั้ง เพราะว่ามันคีย์ข้อมูลง่ายกว่า คล่องมือมากกว่า และควรใช้คีย์บอดช่วยในเรื่องการคีย์ตัวเลข


แต่จุดด้อยของ excel คือ คีย์แต่ตัวเลข แล้วก็ต้องไปจัดการลง spss อีกที เหมือนทำงานสองขั้นตอน แต่อยากบอกว่า ไม่ได้เสียเวลามากครับ มันถนัดมือมากกว่า


โปรแกรม SPSS วิธีการคีย์ก็เหมือนกับใน excel เพียงแต่ เรากำหนดตัวแปรไว้ก่อนแล้ว พอคีย์เสร็จ ก็ใช้งานต่อได้เลย ในขณะที่ถ้าทำใน excel พอ import เข้ามาใน spss แล้ว ต้องมากำหนดตัวแปรอีก


อยากแนะนำการคีย์ดังนี้ คือ สมมติกำลังคีย์ข้อมูลชุดที่ 1 ข้อคำถามที่ 1-5 ให้มองทีละ 5 ข้อ จะง่ายหน่อย จากนั้น จำตัวเลขที่คนตอบ เช่น 55443 เวลาคีย์ข้อมูล ก็ท่องไว้ 55443 จากนั้น จิ้มเลข 5 แล้วกด TAB เลข 5 TAB-4 TAB-4 TAB-3 แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 1 ชุด


เมื่อได้ข้อมูลตัวเลขครบแล้ว ต่อไปก็จะทำการ import เข้าสู่ SPSS (กรณีคีย์จาก excel)


ผมมี 2 คลิป ที่นำเสนอเรื่องการ Import SPSS จาก Excel แล้วก็การตั้งค่าตัวแปรใน SPSS เป็นคลิปใน Youtube ช่อง SmartResearchThai รายการ Easy Statistics สถิติง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว



ลองดูวิธีการ import SPSS จาก Excel ได้ที่ Youtube "สถิติง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว Easy Statistic EP.1: Import Excel to SPSS"



และวิธีการ setting variables ตั้งค่าตัวแปรใน SPSS


การตั้งค่าตัวแปร SPSS
การตั้งค่าตัวแปร SPSS




(2) แบบสอบถามออนไลน์ วิธีนี้ เราไม่ต้องคีย์ตัวเลขก็จริง แต่ว่าหลายๆ บริการ online survey ไม่ได้ลงข้อมูลเป็นตัวเลขมาให้เรา แต่เข้าใจว่า หลังๆ เริ่มลงเป็นตัวเลขมาให้แล้ว


ทีนี้ ถ้าไม่ลงเป็นตัวเลขจะทำอย่างไร


การแปลงค่า excel to spss
การแปลงค่า excel to spss

ภาพนี้ เป็นภาพเมื่อดาวน์โหลดไฟล์มาจาก online survey ต่างๆ จะเห็นว่าแสดงเป็นข้อความ เราจึงนำไปใช้ต่อทันทีไม่ได้ ต้องแปลงเป็นตัวเลขเสียก่อน ดังภาพถัดมา



การแปลงค่า excel to spss
การแปลงค่า excel to spss

ภาพนี้ คือการแปลงจากข้อความเป็นตัวเลขแล้ว จึงสามารถทำการ import SPSS ได้


โดยวิธีการคือ กด Ctrl +H คือการ replace ข้อความให้เป็นตัวเลข ดังนี้


การแปลงค่า excel to spss
การแปลงค่า excel to spss

Find what = เห็นด้วย

Replace with = 5

ก็คือ แทนค่าคำว่า "เห็นด้วย" ด้วยเลข "5" นั่นเอง


ดูจากคลิป EP.1 ได้





.





การตรวจสอบความตรง ความเชื่อมั่น


ดังที่เกริ่นไปข้างต้น เรื่องความตรง กับ ความเชื่อมั่น ความตรงทดสอบด้วย IOC ความเชื่อมั่นทดสอบด้วย Cronbach Alpha ลองดูภาพด้านล่างประกอบ


IOC
IOC

จากภาพเป็นการพิจารณาค่า IOC จะเห็นว่า ข้อคำถามในแบบสอบถาม มีการออกแบบเหมือนกันกับตัวแบบสอบถามปกติ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาให้คะแนน ระหว่าง +1 0 -1 แล้วนำมารวมกัน หากได้เกิน 0.5 จึงถือว่าผ่านเกณฑ์


จากตัวอย่างจะเห็นว่าข้อ V8 คะแนนรวมได้ 0.33 ไม่ผ่านเกณฑ์ จึงควรจัดการกับข้อคำถามนี้ เช่น ปรับข้อความใหม่ หรือ ตัดทิ้ง


ถัดมา เมื่อผ่านการพิจารณา IOC แล้ว จึงไปทดลองเก็บข้อมูล หรือ Tryout จำนวน 30 ชุด เพื่อมาทดสอบ Cronbach Alpha


Cronbach Alpha
Cronbach Alpha

จากภาพ เป็นผลของการทดสอบความเชื่อมั่น Reliability ด้วย Cronabch Alpha แสดงค่าในด้านบนเท่ากับ 0.935 ซึ่งมากกว่า 0.7 จึงถือว่าผ่านเกณฑ์ ลองดูอธิบายเพิ่มเติมได้จากคลิป Youtube







.





จำนวนข้อคำถามที่เหมาะสม


ประเด็นนี้ อาจไม่ใช่เรื่องข้อคาดบาดตายชนิดที่ว่า ต้องมีเท่านี้ข้อ ถ้าน้อยหรือมากกว่า ถือว่าผิด ไม่ขนาดนั้นครับ แต่ว่า มีคำแนะนำที่มีเหตุผลรองรับ ดังนี้


ข้ออ้างถึง ความตรง (validity) เพิ่มอีกสักหน่อย ข้างต้นได้แนะนำไว้ว่า เราดูความตรงด้วย IOC ซึ่งเป็น validity ประเภทนึง แต่ยังมี validity อีกประเภท คือ Constructed Validity ซึ่งตัวนี้เป็นตัวที่ใช้ยืนยันว่าข้อคำถามที่อยู่ในด้านนั้นๆ เหมาะสมจริงหรือไม่


มาขยายกันหน่อยครับ คำว่า เหมาะสมก็คือเช่น พฤติกรรมผู้บริโภค ที่เราแตกออกมาจากคำนิยายเชิงปฏิบัติการนั้น แตกออกมาได้กี่ข้อ แล้วข้อคำถามเหล่านั้น เป็นตัวแทนของพฤติกรรมผู้บริโภคจริงหรือไม่ แน่นอนว่าเราใช้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนตอบ แต่เราก็จะใช้สถิติเป็นตัวตอบด้วยเช่นกัน ก็คือ constrcuted validity ทดสอบด้วย Confirmatory Factor Analysis (CFA)


ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ ว่า การทดสอบ constrcuted validity ด้วย CFA นั้น ยังไม่จบ ต้องนำค่าที่ได้ไปคำนวณหา CR (composite reliability) และ AVE (average variance extraction) ซึ่งการทดสอบด้วย CFA นั้น แต่ละด้าน (เราเรียกว่าองค์ประกอบ) ถ้ามี 3 ข้อคำถามขึ้นไป จะคำนวณได้ แต่ถ้าน้อยกว่า 3 จะคำนวณไม่ได้


จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม จำนวนข้อคำถามที่เหมาะสมคือ ควรมี 3 ข้อ ขึ้นไป





.





ข้อปฎิบัติหลังเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม


หลังจากเก็บข้อมูลเสร็จแล้ว ถ้าผ่านทั้ง IOC และ Cronbach Alpha แล้ว ก็ทำการเก็บข้อมูลจริงได้เลย


และหลังจากนั้น สิ่งที่ต้องทดสอบต่อมา ก่อนไปวิเคราะห์จริงได้แก่


(1) ข้อมูล missing ต่างๆ เช่น คีย์ตกหล่น คีย์ไม่ครบ หรือข้อมูลที่ไม่ตั้งใจตอบ เช่น ตอบ 3 หมดทุกข้อ หรือตอบ 5 หมดทุกข้อ เหล่านี้ อาจจะพิจารณาตัดทิ้งได้


(2) ทดสอบความเบ้ (skewness) ความโด่ง (kurtosis) การแจกแจงเป็นโค้งปกติ (normality test) เนื่องจากสถิติส่วนใหญ่ต้องการข้อมูลที่แจกแจงเป็นโค้งปกติ ตามข้อตกลงเบื้องต้นในแต่ละสถิติ


(3) วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ตามที่ได้วางแผนและระบุไว้ในโครงร่างวิจัย





.





สรุป


บทสรุปเกี่ยวกับการสร้างหรือออกแบบ แบบสอบถามนั้น อยากเน้นส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้อคำถาม ควรมาจากการทบทวนวรรณกรรม แล้วแปลงเป็นคำนิยามเชิงปฏิบัติการ จากนั้นจึงเกิดเป็นข้อคำถาม ซึ่งในแต่ละด้านควรมี 3 ข้อขึ้นไป (อันนี้คือคำแนะนำ ไม่ใช่ข้อบังคับ) และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ ตัวแปรมีกี่ตัว ต้องมีข้อคำถามในทุกตัวแปร





 

ต้องการเรียนสถิติ อยากปรึกษาสถิติทั้งเรื่อง Factor Analysis, CFA, SEM หรือเรื่องอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามเข้ามาได้เลย


'นึกถึงสถิติ นึกถึงเรา Smart Research Thai'


ร่วมติดตามได้ทุกช่องทาง

follow or subscribe in any channel

.

tel.086-555-5949

line: @SmartResearchThai

Blockdit: SmartResearchThai

Youtube: SmartResearchThai

Facebook: SmartResearchThai





Recent Posts

See All

1 Comment


ขอยืนไปสอนนักศึกษาหน่อยคร่าาา

Like
bottom of page